เกี่ยวกับ สำนักบริหารโครงการ

ประวัติ และหน้าที่ความรับผิดชอบ

สำนักบริหารโครงการ วิวัฒนาการมาจาก "กองพลังน้ำ" ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร พ.ศ.๒๔๙๕ ได้กำหนดให้กรมชลประทานแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๓ กอง มี ๙๖ แผนก กองพลังน้ำเป็นกองลำดับที่ ๗ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานวางโครงการและการบริหารงานโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และอาจกล่าวได้ว่า กองพลังน้ำเป็นส่วนราชการแห่งแรกที่ได้ดำเนินการลักษณะนี้ในสมัยนั้น และจัดหาพลังน้ำที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า คำนวณออกแบบและปฏิบัติงานเกี่ยวกับทำนบใหญ่ เพื่อการไฟฟ้าพลังน้ำ ฯลฯ แบ่งออกเป็น ๓ แผนก ได้แก่

 

  • แผนกทำนบใหญ่ มีหน้าที่คำนวณออกแบบทำนบใหญ่ อาคารประกอบบำรุงรักษาเขื่อน
  • แผนกกังหัน มีหน้าที่ออกแบบกังหันน้ำ เพื่อเปลี่ยนกำลังน้ำให้เป็นกำลังคน
  • แผนกเครื่องผลิตไฟฟ้า มีหน้าที่คำนวณออกแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จะมาติดตั้งโดยอาศัยกำลังจากเครื่องกังหัน ควบคุมดูแลให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดำเนินไปด้วยดี

ผลการปฎิบัติงานของกองพลังน้ำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕-๒๕๑๘ ในระยะแรก กองพลังน้ำเป็นกองที่ตั้งขึ้นเพื่อรับนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการพิจารณาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อผลิตไฟฟ้าในราคาย่อมเยาให้แก่ประชาชน โดยใช้กำลังน้ำ ในการนี้ ได้เลือกสร้างโครงการยันฮี ที่แม่น้ำปิง ตำบลยันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นโครงการแรก โครงการยันฮีได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๐๗ ร็จสิ้นโครงการและได้รับพระราชทานนามว่า "เขื่อนภูมิพล" นอกจากเขื่อนภูมิพลแล้ว ได้ดำเนินการโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ที่ตำบลผาซ่อม อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ได้กำหนดให้กรมชลประทานแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒๒ กอง และ ๑๒ สำนักงานชลประทาน มี ๑๖๒ งาน ทั้งนี้ "กองพลังน้ำ" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองวางโครงการ" มี ๘ งาน ได้แก่ งานบริหาร งานนโยบาย งานจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการใหญ่ งานจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการย่อย งานโครงการต่างประเทศ งานเศรษฐกิจ งานคอมพิวเตอร์ งานดำเนินการเอกสารทางวิชาการ ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบวางโครงการชลประทานต่างๆ โดยจัดทำแผนหลัก (Master Plan) และศึกษาวางแผนลุ่มน้ำ (Basin Study) ทั่วประเทศ จัดทำรายงานเบื้องต้น (Preliminary Report) รายงานความเหมาะสม (Feasibility Report) ดำเนินการเกี่ยวกับโครงการความช่วยเหลือกับต่างประเทศทางเทคนิคและวิชาการของงานพัฒนาแหล่งน้ำ ดำเนินการศึกษาสภาวะเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการเกษตรและชลประทานควบคุม และนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง

 

หลังจากนั้น ได้มีการแบ่งส่วนราชการของกรมชลประทาน ตามพระราชกฤษฎีการ พ.ศ.๒๕๒๗ "กองวางโครงการ" มี ๗ ฝ่าย ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาปรับปรุงหน้าที่ของกองต่างๆ รวมทั้ง "กองวางโครงการ" ด้วย คือได้แยกงานคอมพิวเตอร์ งานต่างประเทศที่เกี่ยวกับโครงการเงินกู้และงานแปลเอกสารทางวิชาการออกจาก "กองวางโครงการ" ขณะเดียวกันได้เพิ่มงานด้านติดตามประเมินผลเพื่อช่วยการบริหารโครงการ งานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองงานนี้เป็นงานใหม่ให้อยู่ในความรับผิดชอบของ "กองวางโครงการ" อีกด้วย สรุปได้ว่า "กองวางโครงการ" มี ๗ ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวางโครงการ ๑ ฝ่ายวางโครงการ ๒ ฝ่ายวางโครงการ ๓ ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายประเมินผลโครงการ ฝ่ายศึกษาสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผนและกำหนดขอบเขตการสำรวจ รวบรวมข้อมูลทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านวิศวกรรมและทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เพื่อนำมาศึกษาและวางนโยบายในการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ จัดทำรายงานเบื้องต้น รายงานพัฒนาลุ่มน้ำ รายงานความเหมาะสม และอื่นๆ รวมทั้งประสานงานกับสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและการเงิน รวมทั้งงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนา ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายรักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ และการติดตามประเมินผลโครงการเพื่อประโยชน์ในการบริหารโครงการ

 

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีการแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๐ โดยรวมกองแผนงานและงบประมาณกับ "กองวางโครงการ" และฝ่ายจำแนกดินเพื่อการเกษตร กองวิทยาการธรณีเข้าเป็น "สำนักแผนงานและโครงการ" มี ๒ ส่วน คือ ส่วนวางโครงการ ส่วนแผนงานและงบประมาณ มีความรับผิดชอบคือ

 

  • จัดทำและประสานแผนการปฏิบัติงานของกรมชลประทาน ให้เป็นไปตามนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวง รวมทั้งเร่งรัดติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด
  • ดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมชลประทาน
  • ดำเนินการเกี่ยวกับการสำรวจรวบรวมข้อมูลจัดทำระบบข้อมูล เพื่อศึกษาและวางนโยบายในการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ
  • จัดทำรายงานเบื้องต้น รายงานวางโครงการ และรายงานความเหมาะสมในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ
  • ติดตามและประเมินผลโครงการชลประทานต่างๆ
  • ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฎิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

 

จากนั้น ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างสำนักแผนงานและโครงการ โดยแยกส่วนแผนงานออก นำกองบริหารโครงการเงินกู้และเงินช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินงานด้านโครงการเงินกู้ โครงการความช่วยเหลือ และโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศมารวมเป็น "สำนักบริหารโครงการ" มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามพระราชกฤษฎีการแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๕ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน พ.ศ.๒๕๔๕ (ฉบับที่ ๑) ดังนี้

 

  • ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานเบื้องต้น รายงานวางโครงการ และรายงานความเหมาะสมในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ
  • ติดตามและประเมินผลโครงการชลประทานต่างๆ
  • บริหารโครงการเงินกู้และเงินช่วยเหลือให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญา และสอดคล้องกับระเบียบแบบแผนทางราชการ และดำเนินงานเกี่ยวกับวิเทศสัมพันธ์
  • ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

 

ในปัจจุบัน "สำนักบริหารโครงการ" มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๕๗ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๑ ตอนที่ ๘๘ ก เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ดังนี้

 

  • (๑) ศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานในระดับลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกรม
  • (๒) ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ผลกระทบทางสุขภาพ และผลกระทบด้านอื่นๆ ทั้งในระดับลุ่มน้ำ โครงการชลประทาน และโครงการอื่นของกรม
  • (๓) วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และด้านอื่นๆ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของโครงการชลประทาน
  • (๔) บริหารโครงการและความร่วมมือด้านการชลประทานกับต่างประเทศ
  • (๕) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

 

ถัดไป

ยุทธศาสตร์สำนักบริหารโครงการ