สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี
วันที่ 19 มกราคม 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ณ บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เป็นผู้รับผิดชอบในบอร์ดที่ 4,5,6,7 และ 8 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงนิทรรศการแบบจำลองการบริหารจัดการโครงการอ่างเก็บนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี
ในแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 48 แผนงาน ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2569 ใหน่วยงานรับผิดชอบ 15 หน่วยงาน การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกป่าทดแทน การสร้างฝายชะลอน้ำ การป้องกันการบุรุก ลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า การศึกษาระบบนิเวศทั้งก่อนและหลังการดำเนินการโครงการ การอพยพสัตว์ป่า การส่งเสริมอาชีพ การสำรวจและการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมติคณะกรรมการมรดกโลก
นายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ (ผส.บก.) เป็นผู้ถวายรายงานในบอร์ดที่ 10 อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน โดยเนื้อหาในบอร์ดเกี่ยวกับลักษณะโครงการ สถานภาพโครงการ รวมไปถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก และนายมหิทธ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ ได้ร่วมอธิบายในบอร์ดที่ 9 โครงการชลประทานที่สำคัญในลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำโตนเลสาป ร่วมกับนายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระแก้ว พร้อมทั้งถวายรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของมรดกโลก
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา สามารถระบายน้ำวันได้ถึงละ 0.5 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ระบบส่งน้ำจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 ก็สามารถเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปราจีนบุรีได้ทันที และไม่ก่อให้เกิดน้ำท่วมดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา ในส่วนของการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็ยังได้ระบายน้ำลงลำน้ำเดิมเพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี